วันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2551

What is a Type

หลายต่อหลายคนคงจะสับสนในเรื่องของการเรียกตัวอักษรแต่ละอย่าง ก็เลยไปหาแล้วรวบรวมมาให้ทำความเข้าใจกัน...

Type Face
คือ แบบของอักษร เป็นลักษณะรูปแบบในแต่ละชุด ทั้งพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์และเครื่องหมายพิเศษต่างๆ การออกแบบชุดตัวอักษรไทยและชุดตัวอักษรภาษาอังกฤษ ก็จะหมายถึงการออกแบบ ก-ฮ ตัว A-Z ตัวนำ ตัวตาม รวมทั้งสระ วรรณยุกต์ เครื่องหมาย ตัวเลข รวมทั้งอักขระอื่นๆที่เข้าชุดกันนั้นเรียกว่า Type Face Design (ซึ่งยังไม่ใช่และยังไม่ได้ถูกเรียกว่า Font)

Type
คือ การกล่าวถึง Type Face โดยรวมๆ ในชิ้นงาน เช่นใน Print Ad ชิ้น อาจมีการใช้งานถึง 2-3 Type Face

Typography
คือ ศาสตร์ วิชาการ องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับตัวอักษรทั้งหมด เช่น เรื่องของประวัติศาสตร์การกำเนิดของตัวอักษร วิวัฒนาการการเขียน การบันทึก การพิมพ์ การออกแบบจัดวาง การอ่าน รวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

Typographer
คือ ผู้นำที่รู้ทาง Typography ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์เฉพาะตัว มาแสดงออกกับงานที่เกี่ยวข้องกับตัวอักษรเช่น การเลือกและการออกแบบจัดวางตัวอักษร ข้อความ ของชิ้นงานโฆษณาบนสิ่งพิมพ์ Super (ข้อความ) ของโฆษณาทางโทรทัศน์

Font
คือ ข้อมูลของชุดอักษรสำเร็จรูป ซึ่งเรียกว่า Font file ข้อมูลสำเร็จรูปได้แก่ ระยะ space ต่างๆของตัวอักษรเช่น Tracking (ระยะของแต่ละตัวอักษร) Leading (ระยะบรรทัด) ช่องไฟพิเศษของแต่ละคู่อักษร (Kerning) นั่นคือ File ที่เป็นข้อมูล Digital ของ Font นั้นๆ เมื่อนำเอาอักษรมาบรรจุลงในแป้น Keyboard และปรับแต่ง Spacing ต่างๆ ทดสอบการพิมพ์ การอ่านจนสวยงามและ Generate เป็น Font File ชุดอักษรนั้นจะกลายเป็น Font ตามความหมายที่ถูกต้อง

Font Family / Type Family
ตระกูลหรือสกุลของตัวพิมพ์ ซึ่งก็คือ แบบตัวพิมพ์ที่ออกแบบขึ้นมาในขนาดและสไตล์ต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว Font family มักประกอบด้วย 4 สไตล์ roman, italic, bold และ bold italic

Lettering
คือ การออกแบบตัวอักษรที่ไม่ต้องครบชุด คือเฉพาะแค่คำ ประโยค หรือข้อความเฉพาะกิจ เช่นการออกแบบคำว่า “คณะศิลปกรรม” ที่ติดอยู่บนอาคารของคณะ เป็นต้น

Font Format
หากแบ่งฟอนต์ตามฟอร์แมตหรือเทคโนโลยี จะมีฟอนต์ชนิดต่างๆ มากมาย แต่ฟอนต์ 3 ชนิดหลักที่เป็นมาตรฐานในเครื่องคอมพิวเตอร์ระบบต่างๆ ได้แก่ PostScript Type 1, TrueType และ OpenType โดยฟอนต์ทั้ง 3 ฟอร์แมตนี้ ใช้วิธีกำหนดรูปร่างของตัวอักษร (glyphs) ด้วยเส้นกรอป (outline) ซึ้งประกอบด้วยจุด เส้นตรงและเส้นโค้ง จึงสามารถย่อขยายได้อย่างไม่จำกัด (scalable) ขณะที่ยังคงความชัดไว้ได้

PostScript Type 1 (Type 1) ฟอนต์ที่พัฒนาขึ้นโดย Adobe ที่ใช้ภาษา PostScript เป็นตัวกำหนดโครงร่างของฟอนต์ ซึ่งนับเป็นฟอร์แมตมาตรฐานของระบบ Digital Font ในอดีตโดยแต่ละฟอนต์จะประกอบด้วย 2 ไฟล์ได้แก่ Printer Font Metrics (PFM) และ Printer Font Binary (PFB)

TrueType (TT) ฟอนต์ที่เริ่มพัฒนาขึ้นโดย Apple และอนุญาตให้ทาง Microsoft ได้นำไปพัฒนาต่อ โดยทั้ง 2 บริษัทได้ใช้ฟอนต์ TrueType เป็นมาตรฐานระบบปฏิบัติการตั้งแต่ Mac System 7 และ Window 3.1 เป็นต้นมา หลังจากนั้น บริษัททั้งสองได้มีการเพิ่มฟีเจอร์พิเศษต่างๆ ของตนเข้ามา ในที่สุด Microsoft ได้กำหนดมาตรฐาน TrueType Open ที่จะใช้ได้ทั้ง Windows และ Mac

Open Type (OT) ฟอนต์ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง Adobe และ Microsoft เพื่อยุติสงครามระหว่างฟอนต์ฟอร์แมต Type 1 กับฟอร์แมต TrueType โดยอาจกล่าวได้ว่า OpenType เป็นส่วนขยาย (extension) ของฟอร์แมต TrueType SFNT ซึ่งสนับสนุนข้อมูลแบบ PostScript และฟีเจอร์ทาง typographic เพิ่มเข้ามา ฟอนต์ OpenType ได้ดึงเอาความสามารถของทั้ง PostScript และ TrueType มาใช้ร่วมกันโดยอาจมีเส้นรอบนอกแบบ PostScript (.otf) หรือแบบ TrueType (.ttf) ก็ได้ แต่จะใช้ตารางข้อมูลฟอนต์แบบ TrueType และเพิ่มตารางพิเศษสำหรับความสามารถในการเรียงพิมพ์ชั้นสูง (Layout Feature) เข้ามาด้วยกัน

Unicode คืออะไร?

Unicode กำหนดหมายเลขเฉพาะสำหรับทุกอักขระ
โดยไม่สนใจว่าเป็นแพล็ตฟอร์มใด
ไม่ขึ้นกับว่าจะเป็นโปรแกรมใด
และไม่ว่าจะเป็นภาษาใด

โดยพื้นฐานแล้ว, คอมพิวเตอร์จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของตัวเลข. คอมพิวเตอร์จัดเก็บตัวอักษรและอักขระอื่นๆ โดยการกำหนดหมายเลขให้สำหรับแต่ละตัว. ก่อนหน้าที่๊ Unicode จะถูกสร้างขึ้น, ได้มีระบบ encoding อยู่หลายร้อยระบบสำหรับการกำหนดหมายเลขเหล่านี้. ไม่มี encoding ใดที่มีจำนวนตัวอักขระมากเพียงพอ: ยกตัวอย่างเช่น, เฉพาะในกลุ่มสหภาพยุโรปเพียงแห่งเดียว ก็ต้องการหลาย encoding ในการครอบคลุมทุกภาษาในกลุ่ม. หรือแม้แต่ในภาษาเดี่ยว เช่น ภาษาอังกฤษ ก็ไม่มี encoding ใดที่เพียงพอสำหรับทุกตัวอักษร, เครื่องหมายวรรคตอน และสัญลักษณ์ทางเทคนิคที่ใช้กันอยู่ทั่วไป.

ระบบ encoding เหล่านี้ยังขัดแย้งซึ่งกันและกัน. นั่นก็คือ, ในสอง encoding สามารถใช้หมายเลขเดียวกันสำหรับตัวอักขระสองตัวที่แตกต่างกัน,หรือใช้หมายเลขต่างกันสำหรับอักขระตัวเดียวกัน. ในระบบคอมพิวเตอร์ (โดยเฉพาะเซิร์ฟเวอร์) ต้องมีการสนับสนุนหลาย encoding; และเมื่อข้อมูลที่ผ่านไปมาระหว่างการเข้ารหัสหรือแพล็ตฟอร์มที่ต่างกัน, ข้อมูลนั้นจะเสี่ยงต่อการผิดพลาดเสียหาย.
Unicode จะเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด!

Unicode กำหนดหมายเลขเฉพาะสำหรับแต่ละอักขระ, โดยไม่สนใจว่าเป็นแพล็ตฟอร์มใด, ไม่ขึ้นกับว่าจะเป็นโปรแกรมใดและไม่ว่าจะเป็นภาษาใด. มาตรฐาน Unicode ได้ถูกนำไปใช้โดยผู้นำในอุตสาหกรรม เช่น Apple, HP, IBM, JustSystem, Microsoft, Oracle, SAP, Sun, Sybase, Unisys และอื่นๆ อีกมาก. Unicode เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับมาตรฐานใหม่ๆ เช่น XML, Java, ECMAScript (JavaScript), LDAP, CORBA 3.0, WML ฯลฯ., และเป็นแนวทางอย่างเป็นทางการในการทำ ISO/IEC 10646. Unicode ได้รับการสนับสนุนในระบบปฏิบัติการจำนวนมาก, บราวเซอร์ใหม่ๆ ทกตัว, และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมาก. การเกิดขึ้นของ Unicode Standard และทูลส์ต่างๆ ที่มีในการสนับสนุน Unicode, เป็นหนึ่งในแนวโน้มทางเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ระดับโลกที่มีความสำคัญที่สุด.

การรวม Unicode เข้าไปในระบบไคลเอ็นต์-เซิร์ฟเวอร์ หรือแอ็พพลิเคชันแบบ multi-tiered และเว็บไซต์ จะทำให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการใช้ชุดอักขระแบบเดิม. Unicode ทำให้ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์หนึ่งเดียว หรือเว็บไซต์แห่งเดียว รองรับได้หลายแพล็ตฟอร์ม, หลายภาษาและหลายประเทศโดยไม่ต้องทำการรื้อปรับระบบ. Unicode ยังทำให้ข้อมูลสามารถเคลื่อนย้ายไปมาในหลายๆ ระบบโดยไม่เกิดความผิดพลาดเสียหาย.
***(http://unicode.org/)

รหัส UniCode
เป็นรหัสแบบใหม่ล่าสุด ถูกสร้างขึ้นมาเนื่องจากรหัสขนาด 8 บิตซึ่งมีรูปแบบเพียง 256 รูปแบบ ไม่สามารถแทนภาษาเขียนแบบต่าง ๆ ในโลกได้ครบหมด โดยเฉพาะภาษาที่เป็นภาษาภาพ เช่น ภาษาจีนหรือภาษาญี่ปุ่นเพียงภาษาเดียวก็มีจำนวนรูปแบบเกินกว่า 256 ตัวแล้ว

UniCode จะเป็นระบบรหัสที่เป็น 16 บิต จึงแทนตัวอักษรได้มากถึง 65,536 ตัว ซึ่งเพียงพอสำหรับตัวอักษรและสัญลักษณ์กราฟฟิกโดยทั่วไป รวมทั้งสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ต่าง ๆ ในปัจจุบันระบบ UniCode มีใช้ในระบบปฏิบัติการ Window NT ระบบปฏิบัติการ UNIX บางรุ่น รวมทั้งมีการสนับสนุนชนิดข้อมูลแบบ UniCode ในภาษา JAVA ด้วย